Second French Republic (-)

สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ (-)

สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ ดำรงอยู่ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๘๕๒ เป็นช่วงเวลาที่ฝรั่งเศสหวนกลับไปปกครองในระบอบสาธารณรัฐอีกครั้ง เกิดขึ้นจากความไม่พอใจของชาวฝรั่งเศสที่มีต่อรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและโดยเฉพาะพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (Louis Philippe ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๔๘)* แห่งราชวงศ์ออร์เลออง (Orléans) ที่มักทรงใส่พระทัยต่อความต้องการของชนชั้นกลางระดับสูงโดยไม่คำนึงถึงความต้องการของชนชั้นกลางระดับกลางและระดับล่าง นอกจากนี้ยังทรงสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินนโยบายอนุรักษนิยมและให้ความร่วมมือกับชาติมหาอำนาจอื่น ๆ จนทำให้ฝรั่งเศสต้องสูญเสียเกียรติภูมิในวงการทูตท้ายที่สุดประชาชนได้ก่อการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ (French Revolution of 1848)* ขับพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป ออกจากราชบัลลังก์ การจัดตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ ได้เปิดโอกาสให้เจ้าชายหลุยส์ นโปเลียน (Louis Napoleon)* แห่งราชวงศ์โบนาปาร์ต (Bonaparte)* ก้าวขึ้นมามีอำนาจในฐานะประธานาธิบดีด้วยเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นของประชาชน โดยชาวฝรั่งเศสหวังว่าราชวงศ์โบนาปาร์ตจะนำความยิ่งใหญ่มาสู่ฝรั่งเศสอีกครั้ง ต่อมาในปลาย ค.ศ. ๑๘๕๒ ชาวฝรั่งเศสได้ลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสาธารณรัฐเป็นจักรวรรดิ และเจ้าชายหลุยส์ นโปเลียนก็ทรงสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III ค.ศ. ๑๘๕๒-๑๘๗๐)* แห่งจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๒ (Second Empire of France)* อีกด้วย

 สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ เป็นผลโดยตรงจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ ซึ่งเป็นการปฏิวัติของประชาชนฝรั่งเศสเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญหรือ “ราชาธิปไตยแห่งเดือนกรกฎาคม” (July Monarchy) ที่มีพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปเป็นพระประมุขทั้งนี้ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ ได้แก่ พวกชนชั้นกลางระดับกลางและชนชั้นกลางระดับล่างตลอดจนชนชั้นล่างต่างเบื่อหน่ายพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปที่นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๓๐ หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๓๐ (French Revolution of 1830)* ก็ไม่ทรงเคยสร้างผลงานใด ๆ ให้เป็นที่ชื่นชมของประชาชนโดยทั่วไป นอกจากทรงเอาใจแต่ชนชั้นกลางระดับสูง ยิ่งไปกว่านั้น ในปลายรัชกาลยังโปรดการใช้อำนาจและทรงมีนโยบายอนุรักษนิยมมากขึ้น อีกทั้งรัฐบาลที่มีฟรองซัว-ปีแยร์-กีโยม กีโซ (François-Pierre-Guillaume Guizot)* เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีนโยบายบริหารที่สอดคล้องกับแนวคิดทางการเมืองของพระองค์ โดยเน้นการรักษาและปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นกลางระดับสูงและต่อต้านความคิดเสรีนิยม ทั้งดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างระมัดระวังมากจนฝรั่งเศสไม่มีบทบาทเด่นทางการทูต ชาวฝรั่งเศสจึงเริ่มเอือมระอาต่อทั้งพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปและรัฐบาลใน ค.ศ. ๑๘๔๖ เมื่อประชาชนต้องเผชิญกับทุพภิกขภัยที่เกิดจากภาวะดินฟ้าอากาศแปรปรวน ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารอย่างต่อเนื่อง สินค้าอุปโภคบริโภคต่างมีราคาแพง ตลอดจนต้องเผชิญกับภาวะการว่างงานจำนวนมาก ประชาชนจึงก่อการจลาจลขึ้นตามเมืองต่าง ๆ อย่างไม่ขาดระยะ

 ดังนั้น ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลโดยเฉพาะกลุ่มสาธารณรัฐนิยมซึ่งมีอาดอล์ฟ ตีเย (Adolphe Thiers)* เป็นผู้นำจึงเห็นเป็นโอกาสเคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาลและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมือง โดยการใช้งานเลี้ยงบังหน้าเพื่อปลุกระดม งานเลี้ยงครั้งแรกเริ่มจัดขึ้นที่กรุงปารีสในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๗ และความสำเร็จของการชุมนุมทำให้กลุ่มนักปฏิรูปและฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลซึ่งรวมทั้งนักสาธารณรัฐนิยมกำหนดการจัดงานเลี้ยงทางการเมืองครั้งใหญ่ในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๔๘ แต่ถูกรัฐบาลสั่งห้าม อย่างไรก็ดี คำสั่งดังกล่าวก็ไม่สามารถหยุดยั้งผู้ต่อต้านและการเดินขบวนได้ จนเกิดการปะทะระหว่างทหารกับผู้เดินขบวน ลุกลามและขยายตัวเป็นการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ หรือการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution) ในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปทรงประกาศสละราชสมบัติให้กงต์แห่งปารีส (Comte de Paris) พระราชนัดดาวัย ๑๐ พรรษา และเสด็จลี้ภัยไปยังอังกฤษ ก่อให้เกิดสุญญากาศแห่งอำนาจและการบริหารขึ้นในฝรั่งเศส ขณะเดียวกันสมาชิกส่วนใหญ่ของรัฐสภาซึ่งกำลังอยู่ในสมัยประชุมพอดีก็พร้อมที่จะ แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อกงต์แห่งปารีสขึ้นเป็นพระประมุข

 อย่างไรก็ดี ด้วยแรงกดดันจากพวกสาธารณรัฐนิยมและประชาชนชาวปารีสที่ปฏิเสธเรื่องการถ่ายโอนพระราชอำนาจและเรียกร้องให้เปลี่ยนระบอบปกครองเป็นสาธารณรัฐ ในเย็นของวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ อัลฟงส์-มารี-ลุย เดอ ปรา เดอ ลามาร์ตีน (Alphonse-Marie-Louis de Prat de Lamartine)* สมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นทั้งกวีและนักพูดฝีปากกล้าที่นิยมระบอบสาธารณรัฐก็สามารถโน้มน้าวให้สมาชิกรัฐสภาและผู้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงการปกครองจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวหรือรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้น และเขาได้รับเลือกให้ทำหน้าที่สำคัญคือ การออกมุขหน้าของศาลาว่าการกรุงปารีส (hôtel de Ville) ซึ่งเคยเป็นสถานที่ใช้ประกาศชัยชนะในเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1879)* ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ และรายชื่อสมาชิกรัฐบาลชั่วคราวหรือ “คณะกรรมาธิการบริหาร” (Executive Commission) ต่อฝูงชนที่มาชุมนุมกันอย่างเนืองแน่น ซึ่งต่างเปล่งเสียงโห่ร้องด้วยความปีติยินดี นับเป็นการสิ้นสุดของระบอบราชาธิปไตยแห่งเดือนกรกฎาคมและเป็นจุดเริ่มต้นของการหันมาใช้ระบอบปกครองแบบสาธารณรัฐอีกครั้งเป็นสมัยที่ ๒ นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ราชวงศ์โบนาปาร์ตกลับมามีอำนาจในฝรั่งเศสอีกครั้ง ขณะเดียวกัน การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ ซึ่งปราศจากการนองเลือดและผลสำเร็จของการจัดตั้งระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐในเวลาอันรวดเร็วก็กลายเป็นแรงบันดาลใจแก่นานาประเทศทำให้การปฏิวัติขยายตัวไปทั่วยุโรปจนกลายเป็นการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ อีกด้วย

 รัฐบาลชั่วคราวซึ่งนอกจากสมาชิกส่วนใหญ่ที่เป็นนักหนังสือพิมพ์ของ Le National และ La Réforme ซึ่งเคยมีบทบาทในการต่อต้านพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปและรัฐบาลกีโซแล้ว ยังประกอบด้วยบุคคลจากสาขาอาชีพต่าง ๆ รวมทั้งอัลแบร์ (Albert) ที่ไม่มีใครสนใจจดจำชื่อสกุลซึ่งมาจากชนชั้นแรงงาน รัฐบาลชั่วคราวได้กำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (Constituent Assembly) ในเดือนเมษายนขณะเดียวกันเพื่อป้องกันการก่อการจลาจลของฝูงชนหรือการปฏิวัติซ้อนได้มีการจัดตั้งกองกำลังรักษาการณ์แห่งชาติ (National Guard) ขึ้นในกรุงปารีสและเกณฑ์ชายหนุ่มจำนวน ๑๕,๐๐๐ คนเข้าประจำการ

 นอกจากนี้ รัฐบาลชั่วคราวยังได้มีการจัดเตรียมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งให้สิทธิการออกเสียงเลือกตั้งแก่พลเมืองชายที่มีอายุ ๒๑ ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปทรงปฏิเสธมาโดยตลอดและนำความหายนะมาสู่พระองค์ในที่สุด ทั้งพวกปฏิวัติยังถือว่าเป็น “กิจกรรมสำคัญลำดับแรก” ในการร่างรัฐธรรมนูญด้วย และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ ในช่วงที่มีการเตรียมเลือกตั้งฝ่ายสาธารณรัฐนิยมหัวรุนแรงที่มีหลุยส์ บลอง (Louis Blanc)* นักสังคมนิยม และอาแล็กซองดร์ โอกุสต์ เลอดรู-รอแล็ง (Alexandre Auguste Ledru-Rollin) ผู้นำของ “กลุ่มสาธารณรัฐแดง” (Red Republicans) ร่วมอยู่ในรัฐบาลชั่วคราวยังผลักดันแนวนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาคนยากจนและสภาพความเป็นอยู่ของพวกที่อยู่ในเกณฑ์ตํ่ากว่ามาตรฐานด้วยการคํ้าประกัน “สิทธิในการมีงานทำของพลเมืองทุกคน” (le droit au travail) มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการแรงงานเพื่อวางโครงการสร้างงานสาธารณะเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมของเมืองและจังหวัด รวมทั้งการตั้งโรงงานแห่งชาติ (National Workshop) ขึ้น โรงงานแห่งชาติมี เอมีล โตมา (Emile Thomas) เป็นผู้ควบคุมและมีหน้าที่แก้ไขปัญหาการว่างงานด้วยการจัดทำโครงงานต่าง ๆ เพื่อช่วยให้คนมีงานทำโดยจ่ายค่าแรงให้วันละ ๒ ฟรังค์

 อย่างไรก็ตาม จำนวนคนว่างงานก็มีมากกว่าจำนวนงานที่สร้างขึ้น ในกลางเดือนมีนาคมมีคนสมัครเข้าทำงานในโครงการ ๒๕,๐๐๐ คน และในเดือนมิถุนายนเพิ่มเป็น ๑๒๐,๐๐๐ คน ในกรุงปารีสคนจากชนบทจำนวนมากที่อพยพเข้ามาและต้องการงานทำก็มีปริมาณมากกว่างานที่กำหนดไว้ ความไม่พอใจต่อรัฐบาลเริ่มก่อตัวขึ้น สมาชิกส่วนใหญ่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญมีแนวความคิดอนุรักษนิยมและมาจากพวกชนชั้นกลางระดับสูงและชนชั้นกลางระดับกลางซึ่งรวมทั้งลามาร์ตีนต่างไม่พอใจพวกสาธารณรัฐแดงที่มักโจมตีเรื่องสิทธิการถือครองทรัพย์สินของผู้มีฐานะ จึงเห็นควรให้ยุบโรงงานแห่งชาติ นอกจากสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมหาศาลแล้ว ยังทำให้คนยากไร้จากทั่วประเทศต่างหลั่งไหลมาสู่ปารีสเพื่อให้ได้งานทำอันนำไปสู่ความไร้ระเบียบทางสังคม กอปรกับนโยบายช่วยเหลือคนจนยังเป็นการแทรกแซงชีวิตส่วนตัวของปัจเจกชนผู้มีฐานะที่จะต้องถูกเรียกเก็บภาษีสูงขึ้นหรือถูกละเมิดสิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน ดังนั้น ในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม คณะกรรมาธิการที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องโรงงานแห่งชาติของสภาร่างรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งให้เอมีล โตมายุบเลิกโรงงานแห่งชาติ โดยให้โยกย้ายคนงานที่อยู่ในวัยฉกรรจ์เข้ารับราชการในกองทัพ ส่วนพวกที่มาจากชนบทก็ให้เดินทางกลับถิ่นฐานเดิมและรัฐบาลจะออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับส่วนคนงานที่เหลือให้เข้าทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมของเอกชน หรือไม่ก็ให้ส่งไปทำงานโยธานอกเขตกรุงปารีส

 ในเวลาไม่ช้า หลังข่าวยุบโรงงานแห่งชาติแพร่สะพัดออกไป ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการต่อต้านของคนงานต่อรัฐบาลอย่างกว้างขวาง ในวันที่ ๒๓ มิถุนายนคนงานจำนวนมากได้ไปรวมตัวกันที่ลานบาสตีย์ (Place de la Bastille) พร้อมกับร่วมกันปฏิญาณที่จะปกป้องสิทธิของพวกตนและเริ่มสร้างแนวป้องกันขณะเดียวกันรัฐบาลก็เตรียมแผนการปราบปรามการจลาจล โดยระดมกองกำลังแห่งชาติจากเมืองอาเมียง (Amiens) จำนวน ๓,๐๐๐ คน ให้เดินทางมายังกรุงปารีสซึ่งเดินทางมาถึงในวันที่ ๒๓ มิถุนายน นอกจากนี้ยังมีการเกณฑ์กองกำลังอีก ๑,๕๐๐ คนจากเมืองบรีตตานี (Brittany) ที่อยู่ห่างไปประมาณ ๓๒๐ กิโลเมตรอีกด้วย เมื่อสถานการณ์วิกฤติและไม่มีใครสามารถแก้ไขเหตุการณ์คับขันนี้ได้ สภาร่างรัฐธรรมนูญจึงปลด “คณะกรรมาธิการบริหาร” ออกจากตำแหน่งและแต่งตั้งให้นายพลลุย-เออแชน กาแวญัก (Louis-Eugène Cavaignac) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามเป็นผู้นำประเทศโดยพฤตินัยและผู้มีอำนาจสูงสุดเบ็ดเสร็จ กาแวญักเป็นนายทหารที่มีบุคลิกดุดัน เด็ดขาด ไร้ความปรานี และขาดความประนีประนอม ดังนั้น เมื่อคนงานก่อการจลาจลขึ้นในวันที่ ๒๔ มิถุนายน เขาก็ไม่รีรอที่จะใช้มาตรการรุนแรงในการปราบปรามเพื่อนำความสงบเรียบร้อยมาสู่สังคม คนงานซึ่งประมาณว่ามีจำนวนกว่า ๒๐,๐๐๐ คน (บ้างอ้างว่ามีมากถึง ๓๐,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ คน) จากโรงงานแห่งชาติต่างจับอาวุธขึ้นต่อต้านรัฐบาล โดยได้รับการสนับสนุนจากพวกตกงานจากย่านต่าง ๆ ในกรุงปารีสการลุกฮือดังกล่าวนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดระหว่างวันที่ ๒๔-๒๖ มิถุนายน ซึ่งเป็นเหตุการณ์รุนแรงมากที่สุดบนท้องถนนในกรุงปารีสเท่าที่เคยปรากฏมา เรียกเหตุการณ์นี้ว่า “วันนองเลือดเดือนมิถุนายน” (Bloody June Days) ประมาณว่ามีผู้บาดเจ็บจำนวนนับหมื่นคนและมีผู้เสียชีวิตจำนวน ๑,๔๓๐ คน และ อีกหลายพันคนถูกจับกุมซึ่งส่วนใหญ่ถูกลงโทษด้วยการเนรเทศไปอาณานิคม เหตุการณ์ดังกล่าวจึงได้สร้างรอยร้าวแก่สังคมเป็นอันมาก และก่อให้เกิดความเกลียดชังและความไม่ไว้วางใจกันระหว่างชนชั้น ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวนี้จะฝังแน่นในสังคมฝรั่งเศสต่อไปตลอดครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ด้วย ดังจะเห็นได้ในเหตุการณ์คอมมูนแห่งปารีส ค.ศ. ๑๘๗๑ (Commune of Paris, 1871)* และเหตุการณ์เรื่องเดรฟุส (Dreyfus Affairs)* ค.ศ. ด๘๙๔-ด๙๐๖

 ในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๔๘ รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ ก็ได้รับสัตยาบันเป็นกฎหมายสูงสุดสาระสำคัญคือ การออกเสียงเลือกตั้ง “หนึ่งคนหนึ่งเสียง” และมีสภาเดียว ประธานาธิบดีมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๔ ปี และไม่มีสิทธิลงรับสมัครเป็นสมัยที่ ๒ สภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๔ พฤศจิกายน และเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ ตามที่กำหนดไว้ซึ่งเปิดโอกาสให้ราชวงศ์โบนาปาร์ตกลับมามีอำนาจในฝรั่งเศสอีกครั้ง เจ้าชายหลุยส์ โบนาปาร์ตซึ่งประทับที่อังกฤษได้เป็นตัวแทนของพรรคโบนาปาร์ต และได้รับเลือกจาก ๕ จังหวัดให้เป็นผู้แทน

 ในต้นเดือนพฤศจิกายน เจ้าชายหลุยส์ โบนาปาร์ต เสด็จกลับกรุงปารีสและมุ่งหาเสียงแข่งขันเป็นประธานาธิบดีกาแวญักและลามาร์ตีน รวมทั้งเลอดรู-รอแล็งและนักการเมืองอีกหลายคนได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแข่งกับเจ้าชายหลุยส์ โบนาปาร์ตในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ แต่เจ้าชายหลุยส์ โบนาปาร์ตซึ่งทรงให้สัญญาแก่ชาวฝรั่งเศสทุกชนชั้นว่า พระองค์จะนำฝรั่งเศสกลับคืนสู่ความยิ่งใหญ่และมั่งคั่งทั้งมีความสงบสุขและมั่นคงอีกครั้งหนึ่ง ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นรวม ๕,๔๓๔,๒๒๖ เสียง ชนะนายพลกาแวญักและลามาร์ตีนซึ่งได้คะแนนเสียง ๑,๔๔๘,๑๐๗ คะแนน และ ๑๗,๙๖๐ คะแนนตามลำดับ ส่วนเลอดรู-รอแล็งได้รับเสียงสนับสนุนจากพวกสังคมนิยมประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ เสียง ชัยชนะของพระองค์เป็นเพราะชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ต่างรำลึกถึงคุณงามความดีและความยิ่งใหญ่ของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* และ ความเป็นชาติมหาอำนาจของฝรั่งเศสในสมัยจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ ชื่อของราชวงศ์โบนาปาร์ตจึงมีอิทธิพลทางความคิดต่อชาวฝรั่งเศสซึ่งคาดหวังว่าเจ้าชายหลุยส์ โบนาปาร์ต จะนำฝรั่งเศสกลับไปสู่ความยิ่งใหญ่และนำประเทศชาติให้พ้นจากความยุ่งยากต่าง ๆ ได้อีกครั้งหนึ่ง

 ทันทีที่เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เจ้าชาย หลุยส์ นโปเลียนขณะพระชันษา ๔๐ ปีทรงดำเนินนโยบายที่เป็นอิสระจากพรรคการเมืองที่สนับสนุนพระองค์และทรงใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดทุกวิถีทางในการสนับสนุนพวกนิยมราชวงศ์ใบนาปาร์ตให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและในกองทัพ ในต้น ค.ศ. ๑๘๔๙ ทรงส่งกองทัพฝรั่งเศสไปช่วยทึ๋รนฟูอำนาจของสันตะปาปาไพอัสที่ ๙ (Pius IX ค.ศ. ๑๘๔๖-๑๘๗๘)* ที่กรุงโรมซึ่งได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ จากการเคลื่อนไหวของนักชาตินิยมอิตาลี ในขณะเดียวกันก็ทรงสนับสนุนคริสตจักรให้มีบทบาทในการจัดการด้านการศึกษาอีกครั้ง หลังจากถูกลิดรอนในสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ซึ่งทำให้พระองค์ทรงได้รับเสียงสนับสนุนจากฝ่ายคาทอลิกในประเทศมากขึ้น ต่อมา ในปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๔๙ ทรงสามารถแต่งตั้งคณะรัฐบาลที่ขึ้นต่อพระองค์ได้เป็นครั้งแรก จึงทำให้รัฐสภาไม่สามารถควบคุมการบริหารของรัฐบาลได้อีกต่อไป นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดการเสด็จไปยังที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประชาชนซึ่งมีส่วนทำให้ทรงได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้น ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๕๐-๑๘๕๑ ฝรั่งเศสเริ่มประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอย เจ้าชายหลุยส์ นโปเลียนจึงใช้มวลชนที่สนับสนุนพระองค์เป็นเครื่องมือในการรณรงค์ต่อต้านกลุ่มการเมืองต่าง ๆ และปลุกระดมประชาสัมพันธ์ว่าพระองค์ทรงเป็นเสมือน “บุรุษเหล็ก” ในการต่อสู้กับภัยคุกคามต่าง ๆ

 ต่อมา ในวันที่ ๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๕๑ ซึ่งตรงกับวาระครบรอบปีที่ ๔๗ ของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ และเป็นวันครบรอบชัยชนะ ๔๖ ปีของฝรั่งเศสต่อกองทัพรัสเซียและออสเตรียในยุทธการที่เอาส์เทอร์ลิทซ์ (Battle of Austerlitz)* เจ้าชายหลุยส์ นโปเลียน ประธานาธิบดีจึงเห็นเป็นโอกาสยึดอำนาจด้วยการยุบสภาและประกาศจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่โดยมีเป้าหมายจะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยกำหนดให้ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งได้ ๑๐ ปี มีการจับกุม กวาดล้างฝ่ายตรงข้ามโดยเฉพาะในทางตอนกลางและตอนใต้ของประเทศซึ่งฝ่ายสาธารณรัฐนิยมได้จับอาวุธขึ้นต่อต้านการยึดอำนาจ รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์ในสังคม และศาลทหารพิจารณาตัดสินโทษฝ่ายต่อต้านกว่า ๒๖,๐๐๐ คนและกว่าครึ่งของผู้ถูกจับพิจารณาคดีถูกเนรเทศ ขณะเดียวกัน มีการเตรียมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้ประธานาธิบดีมีอำนาจเหนือรัฐสภา ต่อมาในการลงประชามติในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๕๒ ซึ่งให้ประธานาธิบดีมีวาระดำรงตำแหน่ง ๑๐ ปีและมีอำนาจเด็ดขาดในการบริหาร ชาวฝรั่งเศสร้อยละ ๙๐ให้ความเห็นชอบ

 ชัยชนะที่ได้รับทำให้เจ้าชายหลุยส์ นโปเลียนเชื่อมั่นในความสำเร็จและความเป็นผู้นำของพระองค์ ในวันที่ ๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๕๒ ซึ่งเป็นวันที่ระลึกสำคัญที่ชาวฝรั่งเศสต่างรำลึกในวีรกรรมและพระเกียรติยศของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ และราชวงศ์ใบนาปาร์ต พระองค์จึงทรงจัดการลงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสาธารณรัฐเป็นจักรวรรดิอีกครั้ง ชาวฝรั่งเศสให้ความเห็นชอบอย่างล้นหลาม นับเป็นการสิ้นสุดของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ ที่มีอายุเพียง ๔ ปี ๙ เดือน ๘ วันเท่านั้นเจ้าชายหลุยส์ นโปเลียนก็ทรงสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๒ เฉลิมพระนามจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ โดยทรงสืบทอดเจตนารมณ์ของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ที่จะสร้างฝรั่งเศสให้ยิ่งใหญ่ในทุก ๆ ด้านการกลับสู่อำนาจของราชวงศ์โบนาปาร์ตในราชบัลลังก์ ฝรั่งเศสนับเป็นการอีกสนธิสัญญาโชมง (Treaty of Chaumont ค.ศ. ๑๘๑๔) และการทำลายข้อตกลงของการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๔)* ที่ห้ามสมาชิกของราชวงศ์โบนาปาร์ตขึ้นครองราชบัลลังก์ฝรั่งเศสอีก แต่ประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ไม่ได้ต่อต้านหรือคัดค้านแต่ประการใด การเปลี่ยนผ่านจากสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ ไปสู่จักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๒ จึงสำเร็จอย่างราบรื่น.



คำตั้ง
Second French Republic
คำเทียบ
สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒
คำสำคัญ
- กลุ่มสาธารณรัฐแดง
- กลุ่มสาธารณรัฐนิยม
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๓๐
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘
- การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- กาแวญัก, ลุย-เออแชน
- กีโซ, ฟรองซัว-ปีแยร์-กีโยม
- คอมมูนแห่งปารีส
- โตมา, เอมีล
- บลอง, หลุยส์
- โบนาปาร์ต, หลุยส์
- ยุทธการที่เอาส์เทอร์ลิทซ์
- ราชาธิปไตยแห่งเดือนกรกฎาคม
- โรงงานแห่งชาติ
- ลามาร์ตีน, อัลฟงส์-มารี-ลุย เดอ ปรา เดอ
- สนธิสัญญาโชมง
- สภาร่างรัฐธรรมนูญ
- หลุยส์ นโปเลียน, เจ้าชาย
- เหตุการณ์เรื่องเดรฟุส
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ, สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-